ความรู้กฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกา

สำนักกฎหมาย ชมทรรศน์ สมบุตร

 

 

รวบรวมนำความรู้ดีๆมาฝากกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๓/๒๕๔๒

 

โจทก์จำเลยได้แต่งงานกันตามประเพณีและจดทะเบียนสมรสกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้ เพราะมิใช่กรณีจำเลยผิดสัญญาหมั้นค่าทดแทนจากการผิดสัญญาหมั้นมีเฉพาะตามที่กฎหมายมาตรา ๑๔๔๐ กำหนดไว้เพียง ๓ กรีเท่านั้น ความเสียหายอื่นนอกจากนี้เรียกค่าทดแทนกันไม่ได้

 

คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๕/๒๕๔๕

 

ฟ้องเรียกสินสอดคืน ไม่ใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ทุนทรัพย์ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในการฟ้องคดีครอบครัวในศาลเยาวชนและครอบครัวนั้น ถ้าข้อหาในคำฟ้องมีทั้งข้อหาที่เป็นคดีครอบครัวและข้อหาที่มิใช่คดีครอบครัวรวมกัน แต่หากมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันแล้ว โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยในข้อหาที่มิใช่คดีครอบครัวกับข้อหาที่เป็นคดีครอบครัวต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๕ โดยไม่ต้องแยกข้อหาที่มิใช่คดีครอบครัวไปฟ้องยังศาลจังหวัด เช่น โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่เป็นโมฆะ เพราะถูกข่มขู่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ก่อนที่จะข่มขู่ให้ทำการสมรสด้วยนั้น คำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้เพิกถอนการสมรสเพราะถูกข่มขู่เป็นการฟ้องตามประมวลกฎหมายาแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐๗ จึงเป็นคดีครอบครัว ส่วนคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ถูกจำเลยข่มขู่กระทำชำเราเป็นคำฟ้องเรียกค่าเสียหายเพราะเหตุละเมิด มิใช่คดีแพ่งที่ฟ้องเกี่ยวกับครอบครัว แต่อย่างไรก็ดีตามคำฟ้องทั้งสองนี้สืบเนื่องจากการที่โจทก์ถูกจำเลยบังคับขู่เข็ญ พาโจทก์ไปข่มขืนกระทำชำเราเช่นเดียวกันถือได้ว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ สำหรับในกรณีที่คำฟ้องมีหลายข้อหาแต่เป็นคดีครอบครัวทุกข้อหา และโจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลในท้องที่ที่มีศาลเยาวชนและครอบครัว ๒ ศาลต่างท้องที่กันนั้น โจทก์จะเลือกฟ้องคดีครอบครัวทุกข้อหาต่อศาลเยาวชนและครอบครัวศาลใดศาลหนึ่งก็ได้